Htmltang3

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2551

ลอดลายไม้แกะสลัก

ไม้แกะสลักเมืองลำพูน ปรากฎให้เห็น ณ เครื่องประดับสถาปัตยกรรมของหอไตรวิหาร อุโบสถ กุฎิในส่วนของเครื่องบนหลังคา ได้แก่ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันคันทวย บัวหัวเสาซึ่งสล่า (ศิลปินหรือช่าง) ล้านนามีความสันทัดจัดเจนในการแกะไม้แบบคว้านลึก นิยมผูกลวดลายหม้อดอก หรือหม้อปรณะฆฏะที่เน้นกลีบดอกอิ่มอูมสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ชอุ่มน้ำของสังคมล้านนาหรือลายใบผักกูดและลายบัวจงกลที่สืบทอดสุนทรียศาสตร์มาจากยุคหริภุญไชย พัฒนามาเป็นลายเครือล้านนา รวมไปถึงลายเมฆตั้งเมฆไหล อันไหวพลิ้วเหนือกรอบหน้าแหนบ (หน้าบัน)
เฮือนบ่าเก่าจาวยอง หรือบ้านโบราณชาวไทลื้อ-ไทยอง เป็นสถาปัตยกรรมอีกมิติหนึ่งที่ทรงคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ มีอัตลักษณ์เฉพาะด้วยการประดับแท่งเสาที่หน้าจั่วด้วย “สะระไน” พบมากที่ตำบลมะกอก แม่แรง อำเภอป่าซาง และตำบลต้นผึ้ง อำเภอเวียงหนองล่อง รวมไปถึงเรือนไม้ประเภท หลองข้าว (ยุ้งฉางข้าว) ต๊อมน้ำ (ที่อาบน้ำ) ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนยองในลำพูนเมื่อ 200 ปีที่ผ่านมา เครื่องสักการบูชาที่ใช้ภายในพระวิหาร อุโบสถได้แก่ สัตตภัณฑ์ หรือเชิงเทียน 7 เล่ม ตุงกระด้าง (ธงที่ทำด้วยไม้) เครื่องสูงจำลอง ปราสาทจำลัง ธรรมาสน์ พระพุทธรูปไม้ปิดทองระบายสี พานขันดอก ขันแก้วทั้งสาม ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือ หนึ่งในความภูมิใจของชาวลำพูนที่ได้สืบทอดฝีมือช่างมาสู่หมู่บ้านหัตถกรรมไม้แกะสลัก

ไม่มีความคิดเห็น: